3 ปัจจัย ที่มีผลต่อการวางไข่ของยุง

ยุง เป็นแมลงที่ทุกๆ บ้านแทบจะเขียนป้ายติดไว้ว่าห้ามเข้า เพราะเข้ามาแล้วก็จะหาดูดเลือด ฝากตุ่มคันไว้บนผิวหนังของเรา แถมยังแพร่เชื้อของโรคไข้หวัดต่างๆ อีกด้วย

ยุงเป็นแมลงที่ไม่น่าต้อนรับขนาดนี้ เรามาดูกันค่ะว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการวางไข่ของยุง จะได้หาวิธีรับมือกับเจ้ายุงร้ายไปด้วยกัน

ปัจจัยแรก…แหล่งเพาะพันธุ์
หากในบริเวณบ้านมีภาชนะที่มีน้ำขังอยู่ เรามักจะมีโอกาสพบเจอกับลูกน้ำ ซึ่งเป็นระยะที่พัฒนามาจากไข่ที่ยุงตัวเมียได้วางเอาไว้ได้ง่าย ที่พบมากมักจะเป็นลูกน้ำของยุงลาย เนื่องจากยุงลายชอบวางไข่ในน้ำนิ่งที่ไม่สกปรก ดังนั้นแล้ว ภาชนะที่มีน้ำขังต่างๆ จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นดีของยุงลายเลยทีเดียว

ซึ่งทั้งนี้ หากเราทำการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์อยู่เป็นประจำ ทั้งการคว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง เก็บกวาดเศษขยะที่มีน้ำขังไปทิ้ง ปิดฝาภาชนะที่มีน้ำต่างๆ ขณะที่ไม่ได้ใช้งาน  รวมถึงใช้ทรายอะเบทร่วมด้วย ก็จะทำให้ยุงหมดโอกาสที่จะวางไข่ไปโดยปริยายนั่นเอง

อาหารอย่างเลือด เลือด และเลือด
หลายคนสงสัยว่า นอกจากน้ำหวานแล้ว ทำไมยุงตัวเมียถึงต้องกินเลือดเป็นอาหารเพิ่มด้วย ทำไมไม่กินซากพืชซากสัตว์ หรือเศษอาหารทั่วๆ ไปเหมือนแมลงชนิดอื่นๆ  ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า “เลือด” มีความสำคัญต่อการวางไข่ของยุงลายตัวเมียเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเลือดที่ได้จากคนหรือสัตว์ก็ตาม เนื่องจากในการพัฒนาของไข่ในรังไข่  ยุงตัวเมียจำเป็นต้องนำโปรตีนที่ได้จากเลือดไปใช้ ดังนั้นแล้ว หากยุงไม่สามารถหาดูดเลือดได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อไข่ และปริมาณของไข่ที่จะวางได้ในแต่ละครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่มียุงชุม เราสามารถป้องกันตัวเองและคนในครอบครัวได้หลากหลายวิธี ทั้งการสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย การติดมุ้งลวดในบ้าน การนอนในมุ้ง รวมไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง อย่างเช่นสเปรย์โลชั่นสำหรับทางกันยุง ซึ่งจะช่วยปกปิดกลิ่นเหงื่อ ที่เป็นสาเหตุล่อให้ยุงเข้ามากัด เป็นต้น

การให้ความสำคัญกับการกำจัดยุงด้วยตัวของเราเอง
การกำจัดยุงที่โตเต็มวัยเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะยุงตัวเมียที่โตเต็มวัยสามารถวางไข่ไปได้ตลอด ตราบเท่าที่ยังมีชีวิต และที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นก็คือ ในการวางไข่แต่ละครั้ง ยังไม่จำเป็นต้องผ่านการผสมพันธุ์ในทุกครั้งอีกด้วย เพราะเพียงการผสมพันธุ์กับยุงตัวผู้ในครั้งเดียว ยุงตัวเมียก็สามารถเก็บเชื้ออสุจิเอาไว้และใช้ไปได้ตลอดเลยทีเดียว

การหาทางกำจัดยุงที่โตเต็มวัย จะช่วยปิดโอกาส ไม่ให้ยุงไปแพร่พันธุ์ตามวงจรชีวิตได้อีก ซึ่งเมื่อยุงมีปริมาณน้อยลง  ปัญหาของโรคต่างๆ ที่มียุงเป็นพาหะ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ซิกาก็จะน้อยลงตามไปด้วยนั่นเอง

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
http://www.med.cmu.ac.th

Share:

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข่าวและกิจกรรม

สาระน่ารู้